“หัวใจคือนักล่าผู้ว้าเหว่” หรือ The Heart is a Lonely Hunter คือนิยายเรื่องสำคัญของนักเขียนสตรีชาวอเมริกัน Carson McCullers ที่เขียนขึ้นในปี 1940 และเป็นนิยายเรื่องแรกที่เธอเขียนขึ้นขณะอายุเพียง 23 ปีเท่านั้น
จุดเด่นของนิยายเรื่องนี้คือการพูดถึงชีวิตของคนชายขอบ ทั้งคนดำ เพศที่สาม คนพิการ ฯลฯ ที่พิเศษคือผู้เขียนไม่เพียงกล่าวถึงวิถีชีวิตภายนอกของตัวละครเท่านั้น แต่ยังลงลึกถึงภายในจิตใจตัวละครชายขอบเหล่านี้ด้วย ซึ่งในเวลานั้น (พ.ศ. 2483) ถือเป็นเรื่องใหม่ที่ยังไม่เคยมีใครทำมาก่อน

ประเด็นที่น่าสนใจคือนิยายพาดพิงถึงดนตรีคลาสสิค ผ่านตัวละครเด็กสาว (ที่มีลักษณะทอมบอยและชอบนุ่งกางเกงขาสั้น) ชื่อมิค (Mick) อายุ 12 ปี เป็นลูกสาวของครอบครัวที่ไม่ได้มีฐานะดีนัก และยังประสบปัญหาเรื่องการเงินอยู่บ่อยๆ
มิคเรียนในโรงเรียนแบบเด็กทั่วไป แต่สิ่งที่เธอสนใจที่สุดกลับไม่ใช่การเรียน และเป็นเสียงดนตรีคลาสสิคที่เธอได้รับฟังโดยบังเอิญทางวิทยุ ดังข้อความตอนหนึ่งว่า
“มีดนตรีของนายพิเศษคนหนึ่งที่ทำให้หัวใจของเธอหดหายไปได้ทุกครั้งที่ได้ยิน บางครั้งดนตรีของนายคนนี้เหมือนขนมหวานใสเหมือนแก้วเจียระไนใส่สีก้อนเล็กๆ และบางครั้งเป็นสิ่งแสนเศร้าละมุนละไมที่สุดเท่าที่เธอจะจินตนาการได้”
(จากฉบับแปลไทยโดยจุฑามาศ แอนเนียน LIBRARY HOUSE พ.ศ. 2559)
และในฉากสำคัญ เด็กหญิงได้ฟังซิมโฟนีหมายเลข 3 ของเบโธเฟนอย่างบังเอิญจากวิทยุของชาวเมืองในยามดึก ผู้เขียนบรรยายว่า
“ดนตรีนั้นเดือดพล่านในตัวเธอ…
…โอ้โฮ! ทั้งโลกคือเสียงดนตรีนี้ และเธอไม่อาจฟังได้ชัดพอ ในที่สุดเสียงเพลงท่อนเปิดดังขึ้นอีกครั้งด้วยเครื่องดนตรีที่แตกต่างไปและเล่นรวมเข้าด้วยกันในแต่ละโน้ตดนตรี เหมือนกำปั้นที่กำหมัดแนบแน่นกระแทกลงมาที่ใจเธอ…”
มิค เด็กหญิงจนๆ จึงถึงกับยอมอดอาหารกลางวัน และใช้เงินค่าอาหารจ่ายให้เพื่อนนักเรียนอีกคนหนึ่ง เพื่อให้เขาสอนเปียโนและการอ่านโน้ตเพลงให้
จากเหตุการณ์ดังกล่าว เราจึงเห็นได้ชัดเจนว่าเสียงดนตรีสำหรับมิคเป็นสิ่งพิเศษมหัศจรรย์ ที่เธอสามารถสัมผัสได้ทันทีจากประสบการณ์การฟัง “ครั้งแรก” โดยไม่ต้องเรียนรู้มาก่อน เป็นความงดงามพิเศษเฉพาะตัวที่มีอำนาจเหมือนมนตร์ขลังอันไม่อาจอธิบายได้ง่ายๆ
แนวคิดเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับสมัยนั้น และมีมานานตั้งแต่ราวปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 แล้ว เมื่อมีการยกย่องดนตรีบริสุทธิ์หรือ absolute music โดยนักเขียน-นักปรัชญายุโรป ว่าเสียงเพลงคลาสสิคนั้นเป็นสิ่งสากล บริสุทธิ์ อยู่เหนือพรมแดนของภาษาและถ้อยคำ
ดังนั้นดนตรีจึงไม่ใช่เรื่องของการศึกษา แต่เป็นเรื่องของ “จิตวิญญาณ” ที่สูงส่งและบริสุทธิ์ โดยเฉพาะเมื่อดนตรีของชาวตะวันตกมีจุดเริ่มต้นที่การศาสนา การยกย่องดนตรีบริสุทธิ์จึงทำให้ศิลปะชนิดนี้มีสถานะที่สูงส่งในเชิงนามธรรม ดังเช่นคำกล่าวที่ว่า “ดนตรีเป็นภาษาของทวยเทพ”
ความสูงส่งของดนตรีจึงข้ามพ้นเรื่องของการศึกษา เรื่องของสถานะทางสังคม และชนชั้น
ดังเราจะเห็นได้จากตำนานของนักแต่งเพลงผู้ยิ่งใหญ่ในตำนาน อย่างเช่นเบโธเฟน ผู้ไม่ยอมก้มหัวให้กับชนชั้นสูง และจะหยุดบรรเลงทันทีหากผู้ฟังไม่ให้เกียรติบทเพลงของเขา
นั่นคือความเชื่อมั่นใน “อัจฉริยภาพ” ของมนุษย์ ของ “ปัจเจกบุคคล” ที่ความยิ่งใหญ่ไม่ได้ขึ้นกับชาติกำเนิดหรือความมั่งคั่ง แต่ขึ้นอยู่กับ “ศักยภาพของมนุษย์” ต่างหาก
ความเป็น “มนุษยนิยม” ในดนตรีเช่นนี้เอง ที่ทำให้สถานะของดนตรีคลาสสิคไม่ถูกผูกโยงอยู่กับชนชั้นสูงเดิมอีกต่อไป แต่กลายเป็นเรื่องของ “จิตวิญญาณ” เป็นเรื่องละเอียดอ่อนของอารมณ์ความรู้สึก ที่มนุษย์ทุกคนสามารถเข้าถึง
ดังนั้น สามัญชนอย่างมิค – เด็กสาวธรรมดาผู้ไม่เคยมีการศึกษาด้านดนตรีมาก่อน – จึงสามารถเข้าถึงจิตวิญญาณอันยิ่งใหญ่ของดนตรีได้ด้วยธรรมชาติ “ความเป็นมนุษย์” ของเธอเอง อย่างง่ายดายและลึกซึ้ง
แต่คำว่า “จิตวิญญาณ” นั้นเป็นถ้อยคำที่แสนจะคลุมเครือและยากพิสูจน์ในเชิงวิทยาศาสตร์ จิตวิญญาณของดนตรีจึงสามารถกลายสภาพเป็นเรื่องของ “ความเชื่อ” หรือ “มายาคติ” (myth) ได้อย่างง่ายดาย
กลายเป็นสิ่งที่ถูกช่วงใช้โดยชนชั้นกลางที่ก้าวขึ้นมากุมอำนาจทางเศรษฐกิจการเมืองในยุคสมัยใหม่ และทำให้จิตวิญญาณของดนตรีในแบบมนุษยนิยมในคริสต์ศตวรรษที่ 18 ถูกบิดเบือนให้กลายเป็นเพียงเรื่องของความเชื่อหรือ myth กลายเป็นเรื่องของชนชั้น กลายเป็นการยกย่องดนตรีคลาสสิคให้เป็นสิ่งสูงส่งที่ไม่อาจวิพากษ์วิจารณ์ในทางลบ (ดังเราจะไม่พบใครเลยที่กล้าตั้งข้อสงสัยกับอัจฉริยภาพของเบโธเฟนหรือโมซาร์ต)
และเมื่อสังคมตะวันตกถูกครอบงำอยู่ด้วยลัทธิปิตาธิปไตย อัจฉริยภาพของนักดนตรีจึงจำกัดอยู่แต่เพียงในอาณาเขตของเพศชายเท่านั้น
ดังนั้น เมื่อมิคต้องออกจากโรงเรียนมาทำงานหาเงินช่วยครอบครัวในตอนจบของนิยาย เธอจึงต้องยอมรับสภาพความจริงว่าดนตรีคลาสสิคนั้นไม่ใช่ของสำหรับคนในชนชั้นอย่างเธอ และยิ่งไม่ใช่สำหรับเพศหญิง ดังข้อความในนิยายบทท้ายๆ ที่ระบุถึงความสิ้นหวังของมิคว่า
“แต่เดี๋ยวนี้ในใจเธอไม่มีดนตรีอีกแล้ว…”